ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

        โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็น หน่วยบริการปฐมภูมิ (primary care) ด่านแรก ที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับตำบล มีการให้บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมตั้งแต่งานส่งเสริมสุขภาพ งานควบคุมและป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล งานฟื้นฟู สุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม และงานคุ้มครองผู้บริโภค 

        ปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี จำนวน 82 แห่ง และสถานีอนามัยพระราชทานนาม 11 แห่ง ทั่วประเทศมีจำนวนดังนี้

        สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จำนวนประมาณ 9,836 แห่ง
        สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต. และอื่นๆ) รวมประมาณ 4,537 แห่ง (ในจำนวนนี้มีถ่ายโอนไปยัง อบจ. 4,453 แห่ง)
        รวมทั้งสิ้น 14,373 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2567) โดยมีประวัติ ความเป็นมา ดังนี้

        พ.ศ. 2456 รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ครองราชย์วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 2468)จัดตั้ง โอสถศาลหรือโอสถสถาน เพื่อเป็นสถานบำบัดโรคในชุมชน ให้บริการรักษาโรคเบื้องต้นและจำหน่ายยาในราคาถูกแก่ชาวบ้าน โดยมีการตั้งขึ้นในหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อกระจายการดูแลสุขภาพสู่ชุมชนอย่างใกล้ชิด

        ในปี พ.ศ. 2475 รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 ครองราชย์ พ.ศ. 2468 -2477) โอสถศาลาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” โดยสุขศาลาจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

        1. สุขศาลาชั้นหนึ่ง คือ สุขศาลาที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นที่มีประชากรหนาแน่น และทางราชการจะส่งแพทย์ไปประจำเพื่อให้บริการแก่ประชาชน
        2. สุขศาลาชั้นสอง คือ สุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำ

        สุขศาลาเหล่านี้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น

        ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 เมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข  กรมการแพทย์ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับโอน “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ และในบางจังหวัด ไปปรับปรุงขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในขณะที่บางแห่งให้เทศบาลรับไปดำเนินการ

        ส่วน“สุขศาลาชั้นหนึ่ง “ที่ไม่ได้โอนไปอยู่กับเทศบาลและไม่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลให้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” เหล่านี้จึงพัฒนามาเป็น “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” ในปี พ.ศ. 2497 และได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็น “ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” ในปี พ.ศ.2515 เป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ในปี พ.ศ. 2517 และเป็น “โรงพยาบาลอำเภอ” ในปี พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน

        สำหรับ “สุขศาลาชั้นสอง” ส่วนใหญ่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” ในปีพ.ศ.2495 และเป็น “สถานีอนามัย” ในปี พ.ศ. 2515 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2551 หลังจากได้มีการผลักดันให้พัฒนาและยกระดับสถานีอนามัยสู่การเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งดำเนินการในระหว่างปีพ.ศ. 2552-2555 อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการของหน่วยบริการสุขภาพระดับตำบลอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3-4 (2515-2524) ซึ่งทำให้เกิดการยกฐานะ “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ขึ้นเป็นโรงพยาบาลอำเภอ พร้อมกับการขยายเป้าหมายให้มีโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ ทั้งนี้อาจมองได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขศาลาชั้นสองหรือสถานีอนามัยในระดับตำบลว่าเป็นการบริการสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้งการคัดกรองคนป่วยก่อนไปยังโรงพยาบาลอำเภอที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์สูงกว่า การดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิจึงถูกจัดให้ไปอยู่ปลายสุดของระบบบริการสุขภาพ ทั้งที่มีความสำคัญต่อผู้คนและใกล้ชิดชุมชนเป็นอย่างมาก

        ในปี พ.ศ. 2552 มีการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตามนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และตามโครงการไทยเข้มแข็ง มีการสนับสนุนงบประมาณและ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ รพ.สต. ตามจำนวน ประชากรที่รับผิดชอบ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
        (1) ขนาดเล็ก ประชากรรับผิดชอบ น้อยกว่า 3,000 คน
        (2) ขนาดกลาง ประชากรรับผิดชอบ 3,000-7,000 คน และ
        (3) ขนาดใหญ่ ประชากรรับผิดชอบ มากกว่า 7,000 คน ตามลำดับ         
โดยกำหนดให้ รพ.สต. เป็นหน่วยบริการสุขภาพเชิงรุกในระดับตำบล เพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพมากขึ้น   การยกระดับนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ได้ประมาณ 1,000 แห่งในช่วงแรก ซึ่งรพ.สต. จะได้รับงบประมาณสนับสนุนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

        รพ.สต. จึงเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทเป็นทัพหน้าที่สำคัญที่สุดของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชน ในที่สุด

        ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุข  มีหนังสือที่ สธ 0204/22819 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เรื่องการ สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) ในการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติในปี พ.ศ. 2560 ตาม จำนวนประชากรที่รับผิดชอบเป็น 3 ระดับ คือ (1) ขนาดเล็ก ประชากรรับผิดชอบ น้อยกว่า 3,000 คน (2) ขนาดกลาง ประชากรรับผิดชอบ 3,000 - 8,000 คน (3) ขนาดใหญ่ ประชากรรับผิดชอบมากกว่า 8,000 คน 
        และในปี 2560 กองบริหารทรัพยากรบุคคลยังได้จัดทำ กรอบอัตราของบุคลากรสำหรับ รพ.สต. โดยใช้หลัก เกณฑ์นี้เช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง :
    (1) พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว [จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย]. (2021). Chula.ac.th. https://kingchulalongkorn.car.chula.ac.th/th/history/rama6_bio

    (2) ThaiHealth Official. (2009, September 14). ยกระดับสถานีอนามัย สู่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). https://www.thaihealth.or.th/ยกระดับสถานีอนามัย-สู่-ร/

    (3) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล - Wikiwand. (2021). Wikiwand.com. https://www.wikiwand.com/th/articles/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น